ฝึกจิตอยู่กับปัจจุบัน

การดำเนินชีวิตก่อนไวรัสโควิด-19 จะปรากฏตัวขึ้นนั้น ทิศทางไหนก็ดูจะง่ายดาย ไม่ต้องระแวงระวังอะไรเฉกเช่นทุกวันนี้ ผ่านมากว่า ๓ ปี ตัวเลขของการสูญเสียยังขึ้นป้ายย้ำเตือนในใจตลอดว่า “อย่าประมาท”
.
อยู่อย่างไม่ประมาท (No Carelessness) เท่ากับว่า ทุกขณะลมหายใจเข้า หายใจออกนั้น ควรได้รับการคุ้มครองป้องกันด้วยพลังของสติ (Power of Mindfulness) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คำถามจึงมีว่า เราจะพัฒนาสติให้สมบูรณ์ได้ด้วยวิธีการและใช้เวลายาวนานเท่าใด
.
การฝึกสติตามหลักการทางศาสนา ตีโจทย์ได้ว่า คือ การฝึกจิตอยู่กับปัจจุบัน (Aware of Certain Things at Certain Time) อยู่อย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร ทำหน้าที่อย่างไรนั้น สามารถฝึกฝนและเรียนรู้การอยู่ปัจจุบันของตัวเองได้เสมอ
.
กำลังของการอยู่กับปัจจุบัน คือ การฝึกจิตเราให้ยอมรับและเข้าใจสภาพที่กำลังดำเนินไปหรือกำลังประสบอยู่ เพราะพลังของปัจจุบันเป็นพลังที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้ด้วยผัสสะของเฉพาะตน
.
การฝึกฝนอบรมจิตให้อยู่กับความเป็นปัจจุบันมั่นคงแน่วแน่ เราจะได้ใช้ประโยชน์กับบางวันที่ปัจจุบันของเรามันเปลี่ยนรูปแบบ และ เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ในวันที่ต้องอยู่ลำพังบนรถเข็น มีคนช่วยดูแล บวกกับความนึกคิดที่กระสับกระส่าย ปีนป่ายออกไปจากความรู้สึกดังกล่าว แต่คงทำไม่ได้ เพราะสถานภาพของคนป่วยหนัก ต้องมีผู้ช่วยประคับประคองอยู่ด้วย
.
ผู้ฝึกตนและเรียนรู้การอยู่กับปัจจุบัน จะไร้ความวิตกกังวลมากกว่า ผู้ที่ไม่เคยผ่านวิธีการดังกล่าว ปล่อยวางได้เร็วขึ้น มองสภาพที่ปรากฏอย่างไม่เอนเอียง รับรู้มากกว่าขัดขืน
.
พลังของปัจจุบันมีอานิสงส์มากมาย ใช้ประโยชน์ได้ทุกที่ทุกเวลา ในสภาพที่ร่างกายแข็งแรง หรือถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอย่างหนักก็ตาม ถ้าวางจิตในลู่เดินที่เหมาะสม ดึงสติใคร่ครวญสิ่งที่กำลังเป็นไป ย่อมประจักษ์แก่นแท้ของชีวิตตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “สัพเพ สังขารา ทุกขา” สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สิ่งใดที่ถูกปรุงแต่งได้ สิ่งนั้น ๆ ย่อมเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม หรือแม้แต่ไม่ตรงกับความต้องการของตัวเรานั่นเอง
.
วาทะท่านพระครู