ดันตัวกูสู่ความรู้ตัว

ความเชื่อชนิดติดหนึบ เหมือนการหย่อนตัวลงหลุมลึกทางความคิด ซึ่งปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพิ่มเติมองค์ความรู้ให้สามารถดำรงตนได้เท่าทันตามยุคสมัย
.
ความติดหนึบรากเหง้าความคิดเดิมๆ ของตัวเองบางประการ จะกั้นกางมิให้ได้เรียนรู้อะไรที่ใหม่กว่า ดีกว่าและเป็นกลางกว่า อีกทั้งอาจสร้างความคับแคบที่แม้ตัวเองก็ยังแทรกตัวเข้าและออกได้ยาก
.
ความเชื่อ (Beliefe) ที่ควรถนอมให้มั่นไว้ คือ ความไม่จีรังยั่งยืนในอัตภาพ ทุกคนสัมผัสและรับรู้ผลของการเปลี่ยนแปลงได้พอ ๆ กัน
.
การขยายช่องให้ “อัตตา” ก่อตัวใหญ่ขึ้น เหมือนปล่อยให้ผักตบแผ่ขยายไปตามความกว้างของผิวน้ำ รังแต่จะเพิ่มความยุ่งยากให้กับคนดูแล และระบบนิเวศก็อาจเสียความสมดุลไปด้วย
.
ลดอัตตาเพิ่มปัญญา เป็นการเปิดช่องทางการเรียนรู้ “ความเหมือนและความต่าง” จากครูบาอาจารย์ จากบุคคลอื่น ที่ชำนาญกว่า และไม่ควรตั้งข้อสงสัยเพียงเพราะกลัวจะเสียความเป็นตัวเอง เสียเกียรติหรือเสียบทบาททางสังคมที่เป็นแค่สิ่งสมมติเท่านั้น
.
ยึดติดเรื่องสมมติย่อมทุกข์กับสิ่งสมมติ และใจจะเสียโอกาสประกาศอิสรภาพจากวังวน “ตัวกู” แต่ทว่าถ้าถอยสักก้าว และผลักดัน “ตัวกู” สู่ “การรู้ตัว” การเกี่ยวข้องก็จะเป็นสิ่งสักแต่ว่ารับรู้ (Single Input and Output) ตัวกูจะไม่กั้นกางการเรียนรู้ความต่างใด ๆ อีกต่อไป รังแต่จะเปิดโอกาสให้เนื้อหาแห่งการเรียนรู้สั่งงานสมองตรึกตรองกลั่นกรองเป็น “ภูมิปัญญาภิวัฒน์” ได้อย่างสมบูรณ์
.
วาทะท่านพระครู